forwriter.com
การเขียนบันทึก ห้องมือใหม่

Writing journal การเขียนบันทึก

ความหมาย

Journal เป็นการเขียนอย่างต่อเนื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เขารู้สึก
ในสิ่งที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตของตัวเขาเอง มันอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยกับ
คำว่า
Diary ตรงที่มันไม่เพียงแต่อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเท่านั้น
แต่มันยังรวมไป ถึงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อเหตุการณ์ และความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ
ที่ไม่จำเป็นต้อง เกิดกับตัวคุณด้วยด้วย (
แต่มันก็ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะเรียก สิ่งที่คุณ เขียนว่าอะไร ขอให้คุณได้ลงมือเขียนเท่านั้น )

เขียนไปทำไม

๑. เป็นการเริ่มต้นฝึกเขียนที่ดี และง่ายที่สุดสำหรับคนเริ่มเขียน เพราะมันไม่มีกฎเกณฑ์อะไรสั่งให้คุณเขียนอย่างโน้นอย่างนี้ คุณไม่ต้องใช้ความพยายามหรือแรงบันดาลใจอะไรมากมายในการเขียนบันทึก มันไม่สำคัญว่าคุณจะสะกดเป็นไหม ลายมืออ่านยากไหม หรือไม่ต้องคิดถึงวิธีสร้างสรรค์ใด ๆ ในการจะเขียนถึงสิ่งที่คุณรู้สึก มันไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือ เรียกร้องเทคนิคอะไรเป็นพิเศษ คุณเขียนไปตามที่เป็นจริง เขียนไปตามความคิด และมุมมองของคุณเท่านั้น และที่สำคัญมันเป็นการเขียนเรื่อง โดยส่วนตัว ของคุณแท้ ๆ คุณจึงไม่ต้องกังวลว่า ท่านผู้ชม จะชอบหรือไม่ชอบ ( ถ้าคุณไม่นำออกสู่สาธารณะ และต้องการคำวิจารณ์ )

๒. เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่กดดันอยู่ภายใน ระบายออกมาเป็นตัวหนังสือ ทำหายภาวะเครียดลดลง

๓. เป็นการบันทึกเรื่องราวกระบวนการเติบโตทางความคิดของตัวผู้เขียน ในแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านไป ซึ่งเป็นเหมือนการเดินทางของจิตใจ เป็นเหมือนการเปิดรับฟังเสียงที่อยู่ภายในของตัวเอง ซึ่งในตอนเขียนหากคุณได้ยินเสียงที่เกิดจากภายในของตัวตนของคุณเองจริง ๆ คุณก็จะ เข้าใจในตัวเองมากขึ้น ทำอะไรได้สุขุมรอบคอบยิ่งขึ้น

 

ควรจะเริ่มเขียนเมื่อไหร่

-คุณควรเริ่มเขียนวันนี้เลย และถ้าหากคุณต้องการฝึกการเขียนไปด้วยก็ควรจะเขียนทุกวันเพื่อดูความก้าวหน้าของตัวเอง
-เขียนตามแต่โอกาสพิเศษเช่นไปเที่ยว ไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ฯลฯ
-เขียนให้ได้หนึ่งหรือสองหน้าทุกวัน
-เขียนเมื่ออยากเขียน
-เขียนเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้น
-ฯลฯ

 

จะเริ่มเขียนอย่างไร

เตรียมอุปกรณ์ เรื่องนี้อาจจะดูไม่ยาก มีเพียงปากกาสมุด ก็คงจะพอ แต่ก็นั่นแหละ หากมีอะไรที่มันจะทำให้คุณรู้สึกดี หรือมีความสุขกับการเขียน ก็จงหามันมา อาจจะเป็นสมุดที่สวยมีภาพลางเลือนให้เขียนทับลงไป จะซื้อสมุดที่พิมพ์มาขายเพื่อการบันทึกเฉพาะก็ได้ หรือแม้แต่สีปากกาที่จะเขียน จะให้มันมีกี่สีก็ทำไป จะติดรูปถ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปด้วยก็ได้ ถ้าวาดเองไม่เป็น

ถ้าคุณเลือกที่จะเขียนลงคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และคิดว่าตนเองไม่มีเวลาที่จะสร้างสรรค์หน้า ใหม่ๆขึ้นมาทุกวัน ให้ทำรูปแบบ ( template ) บันทึกเอาไว้จะรวดเร็วกว่า

ถ้าจะเขียน Diary online หรือ Weblog ต้องเคลียร์ให้ชัดว่า คุณเขียนเพื่ออะไร คุณต้องการให้กลุ่มไหนอ่าน เรื่องที่คุณเลือกที่จะเขียนน่าสนใจเพียงพอหรือยัง เลือกเวป ที่มีลูกเล่นให้คุณตกแต่งเองได้ด้วย และอย่าลืมสำรองข้อมูลของตัวเองเอาไว้ด้วยละ

เวลาเขียน   ควรจะเขียนทุกวันติดต่อกัน ใช้เวลาตามสะดวกเหมาะสมกับตัวคุณเอง แต่อยากให้เน้นเรื่องความ สม่ำเสมอ

เลือกหัวข้อที่คุณอยากเขียน

ต้องเข้าในว่าในการเขียนบันทึกไม่จำเป็นว่าบันทึกที่คุณจะเขียน จะมีแต่กิจวัตรประจำวันของคุณหรือ เรื่องราวเปิดเผยอารมณ์ของตัวเองตลอดเวลา ( ประเดี๋ยวไม่มีอารมณ์ เลยพาลไม่มีอะไรเขียน ) คุณสามารถที่จะเลือกหัวข้อไหนเขียนก็ได้ ขอให้เป็นเรื่องที่คุณสนใจ เช่น
-เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ที่คุณรู้จักคุณรักคุณชอบ

-เขียนถึงงานอดิเรก

-เขียนถึงคนที่คุณรัก เช่นลูกหรือแฟน

-เรียงเรื่องหัวข้อเขียนแบบ ก ถึง ฮ
-เรื่องการเมืองที่เกิดขึ้น

-ภัยธรรมชาติ

-ฯลฯ

บันทึกนักเขียน

เป็นสิ่งที่นักเขียนใหม่ควรทำที่สุด บันทึกนักเขียนเป็นวิธีการที่คุณแสดงความรู้สึก หรือความเห็นต่อวิธีการเขียนของตนเองในแต่ละวัน มันจะทำให้คุณเข้าใจและพัฒนาการเขียนของตนเองได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ลงมือเขียน

คุณเชื่อไหม คนบางคน ที่ไม่คุ้นเคยกับการเขียนมาก่อน แม้แต่การเขียนบันทึกของตัวเอง ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเขียนลงไปยังไง แถมเวลาเขียนยังรู้สึกเขินอายอีกแนะ ( ถ้าหากคุณไม่เป็นอย่างนี้ก็ถือว่าโชคดีไป) ดังนั้นจึงอย่าคิดว่าการเขียนบันทึกจะเป็นเรื่องง่าย ๆ นะ ถ้าคุณไม่เคยลงมือเขียนมาก่อน สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ เลือกรูปแบบการเขียน

ตัดสินใจว่าคุณเลือกรูปแบบการเขียนของคุณให้เป็นแบบไหน ( ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรูปแบบเดิมทุกวัน )

ในรูปของจดหมาย เหมือนคุณเขียนถึงใครสักคนหนึ่ง หรือเขียนถึงสมุดก็ได้ ( คงเคยอ่านเจออย่างนี้นะ สมุดจ๋า .... ถึงพระเจ้า ..... )

บันทึกเล่าเรื่องธรรมดา ลำดับตั้งแต่เกิดอะไรขึ้น ผลออกมาเป็นอย่างไร คุณรู้สึกอย่างไร คุณอยากให้เป็นอย่างไร ( วันนี้ตื่นแต่เช้า ....)

เป็นการสนทนาโต้ตอบ บันทึกของวันนี้คุณอาจจะ เขียนกลางหน้ากระดาษถึงหัวข้อว่า
ฉันเบื่อการทำงานที่นี่แล้ว

จากนั้นก็ลงไปที่บทสนทนาเลย จะเลือกใครคุยกับใครก็ได้เช่น

แบบฝ่ายมารกับฝ่ายดี ( เคยเห็นในหนังไหมที่เทวดากับซาตานโผล่เข้ามาความคิดคนต่างฝ่ายต่างพูดน่ะ ) หรือแบบทนายซักจำเลย แบบไปปรึกษาหมอ แบบ A และ B คุยกัน

A: ฉันก็เห็นนายบ่นทุกวัน ทำไมไม่ลาออกเสียเลย

B: ยังหางานใหม่ไม่ได้โว้ย

A: ก็แล้วจะตะโกนหาพระแสงอะไร คนอื่นรำคาญนะ

B: ………….

การเขียนแบบนี้ไม่ต้องคิดมากถึงกับต้องวางพล็อตหรอกนะ เขียนไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเป็นความจริงอย่างใจคุณคิดก็พอ

แบบจัดระเบียบความคิด ( Mind map ) วาดวงกลมกลางหน้ากระดาษ เขียนหัวเรื่องลงไป จากนั้นก็ลากเส้นใยแมงมุมออกไปจากวงกลมสัก ๘ เส้น ( มากน้อยแล้วแต่เรื่อง) แต่ละเส้นจะเขียนแต่ละคำที่สื่อถึงความรู้สึก แต่ละคำก็เขียนประโยคในใจลงไป เขียนซะให้สะใจ

แบบไหนก็ได้ตามสไตล์คุณ เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่มีรูปแบบไหนดีเท่ากับแบบที่คุณสร้างของคุณขึ้นมาเอง ที่แนะนำมาเป็นเพียงไอเดียสำหรับผู้เริ่มต้นเท่านั้น

สิ่งที่ควรมีในบันทึกของคุณ

( ไอเดียสำหรับคนนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรลงไป)

วันเวลา เขียนวันเดือนปีให้ละเอียด อย่าลืมวันในแต่ละสัปดาห์ด้วย

( วันอังคารที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๑๒.๐๐ เที่ยงคืน)

สภาพดินฟ้าอากาศ อุณหภูมิ ( ถ้าคุณมีเทอร์โมมิเตอร์ ) ฝนตก ร้อน หนาว

อารมณ์ วันนี้มีอะไรอยู่ในหัวคุณบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นมาจนทำให้คุณรู้สึกในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไหม เช่นทะเลาะกับแฟน โกรธมากที่เขาว่าคุณ เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น คุณรู้สึกอย่างไร คุณอยากจะทำยังไงต่อสถานการณ์นี้ เขียนอย่างที่ต้องการจริง ๆ ต่อให้มันเป็นเรื่องร้าย ๆ ก็เถอะ อย่าไปเว้นวรรค หรือเซนเซอร์ตัวเอง เพราะคนเรามีเงามืดอยู่ในตัวทั้งนั้น เน้นว่า เป็นเรื่องการเขียนที่ซื่อตรงต่อจิตใจตัวเองเท่านั้น

เหตุการณ์ทั่วไป เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ของคุณ เช่นไปซื้อของ ดูทีวี อ่านหนังสือ เขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง หรือเหตุการณ์ที่มองเห็น ฯลฯ

การเขียนบันทึกต้องเขียนในเรื่องที่เป็นจริง เพราะถ้าคุณจะโกหกก็ไม่รู้จะเขียนไปทำไม แล้วคิดดูสิ ถ้าคุณเขียนทุกวัน ผ่านไปหลายปีคุณก็จะมีหนังสือเป็นของคุณเองเป็นเล่ม ๆ และเรื่องบางเรื่องที่คุณเขียนเอาไว้คุณยังจะนำมาใช้อ้างอิงให้เป็นประโยชน์ได้ในตอนหลังด้วย

ฝึกเขียนแบบ free writing หลังจากเขียนบันทึกเสร็จแต่ละวัน ลองเขียนอะไรที่เป็นไปตามจินตนาการของคุณเองบ้าง เอาให้สุด ๆ ไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหวัง ความฝัน แต่จะให้ดีควรจะแยกออกจากบันทึกประจำวันของคุณเป็นอีกเล่ม

 

จำไว้ว่า


นักเขียนที่ดีจะบันทึกหลักฐานทุกอย่างไว้ ไม่ว่าจะลงในกระดาษหรือช่องว่างในหัวสมอง แต่ถ้าจะให้เป็นระเบียบก็จงเขียนหลักฐานทุกอย่างลงกระดาษ หรือในแผ่นดิสก์


โดย ฟีลิปดา
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘

 

 

 

ทักทาย

 

 

ดั่งไฟรัก
 
 

2009 free writing

 
 
 
 

 

  http://www.forwriter.com © 2005 All rights reserved.