ต่าง ๆ นานา
 
บทความ

๗ รูปแบบการเขียนบทความที่คนอยากอ่าน

 

หากจะเขียนบทความที่ทำให้คนอยากอ่าน เรื่องแรกสุดคือคุณต้องหา หัวข้อเรื่อง ที่คุณต้องการเขียนถึง วางแผนเอาไว้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับมันในเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรใหม่ น่าสนใจไหม ? หาตัวอย่างประกอบเรื่องได้ไหม ?

เมื่อคุณได้ระดมสมองคุณอย่างเต็มที่แล้ว นี่คือสูตรเด็ด ๗ รูปแบบ ในการเขียน

 

๑. เขียนแบบ “ How – To ”

หากคุณมีความรู้หรือประสบการณ์ที่อยากแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ การเขียนแบบนี้เหมาะมาก เพราะ ใคร ๆ ก็ชอบอ่านแนวนี้ ให้คุณเขียนแนะนำวิธีไปทีละขั้น ๆ จนถึงสิ่งที่ตั้งไว้ คุณอาจจะอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของความรู้ที่คนอ่านต้องการเพิ่มเติมด้วยก็ได้ ( ตัวอย่าง – วิธีเขียนนวนิยายใน ๒๐ ขั้นตอน )

 

๒. เขียนแบบ “ ลำดับรายการ ”

  เป็นวิธีที่ง่ายมากในการแจกแจงสิ่งที่คุณต้องการบอก คุณอาจเริ่มโดยการเกริ่นนำสักย่อหน้า เพื่อนำไปสู่รายการตามหัวข้อเป็นลำดับ เขียนอธิบายแต่ละหัวข้อสั้น ๆ คนอ่านชอบมักจะชอบตัวเลข ให้ตั้งชื่อเรื่องโดยรวมเอาตัวเลขเข้าไปด้วย เช่น ๑๕ เคล็ดลับดับความอ้วน ,๑๐ วิธีที่จะบอกเลิก ( ตัวอย่าง – ๗ รูปแบบการเขียนบทความที่คนอยากอ่าน , ๑๐ อย่างที่ไม่ควรบอกหนุ่ม )

 

๓. เขียนแบบ “ ตั้งสมมติฐาน ”

  คือการเขียนที่คุณตั้ง ข้อสมมุติฐาน หรือเป็นคำถามเอาไว้แล้ว แสดงให้เห็นประโยชน์จากสิ่งที่คุณจะนำเสนอ ใช้เมื่อคุณต้องการจะโต้แย้ง ถกเถียง หรือ แสดงข้อคิดเห็นในวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยคุณต้องแยกแยะออกไปทีละประเด็น ๆ ให้เห็น โดยมากมักจะเห็นจากบทความเกี่ยวกับสุขภาพ ตัวอย่างการตั้งหัวข้อเช่น

ชาเขียวมีประโยชน์ต่อร่างกายจริงเหรอ ? กินแคลเซียมมากไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ?

 

๔. เขียนแบบกรณีศึกษาสั้น ๆ

  เขียนในลักษณะ ถามเอง ตอบเอง เริ่มโดยเกริ่นนำเกี่ยวกับความเห็น หรือสถิติในเรื่องที่คุณจะเขียน

แล้วยกตัวอย่างจริง ๆ สั้น ๆ สักสองสามเรื่อง ที่จะแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างกันจากสิ่งนั้น ตัวอย่างเรื่องก็เช่น

จะลาออกจากงานมาทำงานอิสระดีไหม ? สร้างบ่อนคาสิโนแล้วนักท่องเที่ยวจะมาจริงเหรอ ?

 

๕.เขียนแบบสัมภาษณ์

  เป็นการเขียนในลักษณะถามตอบ ระหว่างคนถามกับคนตอบ หากคุณจะสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุณอาจจะเกริ่นนำถึงประวัติของผู้ที่คุณจะสัมภาษณ์เสียก่อน แล้วจึงนำเข้าสู่บทถามตอบ แต่ถ้าเป็นการสัมภาษณ์เพื่อต้องการความจริงเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คุณอาจจะเกริ่นนำสถานการณ์ที่เกิดเกี่ยวกับตัวเขาเสียก่อน ( เช่นดาราหรือคนดังที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่เล้า )

การสัมภาษณ์ อาจจะเป็นตัวต่อตัว หรือทางโทรศัพท์ หรือส่งคำถามให้เขาตอบกลับมาก็ได้

 

๖. เขียนแบบเล่าเรื่องสั้น ๆ

  ขอเน้นว่าต้องสั้น ๆ เพราะคนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะพอใจอ่านอะไรที่ยาว ๆ เป็นการเขียนเรื่องของคุณหรือเหตุการณ์ที่เห็นสอดแทรกทัศนคติในเรื่องนั้น ๆ ลงไป โดยมากคนเขียนมักจะใส่อารมณ์ขันลงไปในเรื่องด้วย

ตัวอย่างชื่อเรื่องเช่น ผมผ่านวันหวยออกมาได้อย่างไร?, ฉันจะบ้าตายกับวันรถติด , จะ มีใครร้ายเท่าแฟนผม ? ฯลฯ

 

๗. เขียนจากผลสำรวจ

  เป็นบทความที่แสดงความคิดเห็นแล้ว อ้างอิงถึงผลสำรวจ ที่เรามักจะพบเห็นบ่อย ๆ ในเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจของคนในสังคม ต้องเขียนให้สั้น และอยู่ในรูปแบบที่อ่านเข้าใจได้ง่าย บอกแหล่งข้อมูลด้วย

 

      อยากหัดเขียนแบบไหน ก็เริ่มลองได้แล้วนะคะ         เขียนแล้วอย่าลืมส่งมาแลกเปลี่ยนกันอ่านบ้างละ

 

 

 

 

 

 


๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน
นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง

ดั่งไฟพิศวาส
นวนิยายรักเร้าอารมณ์