forwriter.com
 
ทำหนังสือให้เป็นเล่ม

 

การขอใช้เลขหมายสากลประจำหนังสือ ISBN

 

เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ International Standard Book Number (ISBN) จะต้องกำหนดให้กับหนังสือทุก ๆ ฉบับครั้งที่พิมพ์ (Edition)

หนังสือที่พิมพ์ซ้ำ ยังคงให้ใช้เลขเดิม แม้ปีพิมพ์หรือราคาจะเปลี่ยนไปก็ตาม หนังสือชื่อเดียวกันผลิตในรูปแบบแตกต่างกัน เช่น พิมพ์ทั้งปกแข็งและปกอ่อน จะต้องให้เลข ISBN ต่างกัน

ประโยชน์ของการใช้รหัส ISBN

เป็นรหัสเอกลักษณ์เฉพาะตัวหนังสือ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ดังนั้น เมื่อนำมาใช้เป็น รหัสสินค้า เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย ร้านหนังสือ ห้องสมุด และผู้ซื้อทั่วไป (เช่น ในขั้นตอนการสั่งซื้อ การขาย การลงข้อมูล การคืนสินค้า การสอบถามข้อมูล เป็นต้น) แทนที่จะระบุเป็นชื่อหนังสือ หรือต่างคนต่างกำหนดรหัสสินค้ากันเองภายในหน่วยงาน จะก่อให้เกิดการประสานงานที่รวดเร็วขึ้น ไม่ผิดพลาด สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน/ค้นหาข้อมูล ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ได้ง่ายขึ้น

เมื่อนำไปใช้ร่วมกับระบบบาร์โค้ด จะช่วยให้การขาย ณ จุดขายปลีกรวดเร็วขึ้น สามารถนำข้อมูลไปใช้บริหารสินค้า การวางแผนการผลิต การตรวจนับสต็อก และการให้บริการเสริมต่างๆ ได้ดีขึ้น

โครงสร้างของระบบเลข ISBN

ทุกๆ เลข ISBN จะประกอบด้วยตัวเลข 10 หลัก และจะต้องมีตัวอักษร ISBN นำหน้าทุกครั้งเมื่อมีการตีพิมพ์ เพื่อให้รู้ว่ารหัสเหล่านี้เป็นเลขในระบบ ISBN

เลข 10 หลักนี้ จะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน ที่มีจำนวนหลักของแต่ละส่วนเปลี่ยนแปลงได้ แต่รวมกันแล้วจะต้องเป็น 10 หลัก แต่ละส่วนเมื่อนำมาพิมพ์จะถูกคั่นด้วยเครื่องหมาย - หรือเว้นวรรค 1 วรรค เพื่อให้อ่านแต่ละส่วนเพื่อตีความหมายได้ง่าย เช่น

ISBN 974-510-093-5

ISBN 974 510 093 5

หมายเหตุ ในทางปฏิบัติ ขอแนะนำให้ใช้เครื่องหมาย - จะช่วยให้อ่านได้ง่ายกว่า ในการใส่ข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ใส่เฉพาะตัวเลข 10 หลักลงไปเท่านั้น ไม่ต้องใส่ตัวอักษร ISBN หรือเครื่องหมาย - หรือการเว้นวรรค ลงไปด้วย เพราะเป็นเพียงช่วยให้การอ่านและตีความหมายด้วยตาง่าย ขึ้นเท่านั้น

เลข 4 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 เป็นเลขรหัสกลุ่ม (Group Identifier) ส่วนนี้จะแบ่งตามเชื้อชาติ หรือกลุ่มประเทศตามภูมิศาสตร์ หรือกลุ่มประเทศตามภาษา หรือตามข้อพิจารณาอื่น เพื่อประโยชน์ในการมอบหมายให้มีองค์กรผู้แทนของ ISBN เป็นผู้ดูแลเลขแต่ละกลุ่ม ดังนั้น สำนักพิมพ์ที่ปรารถนาจะเข้ามาใช้ระบบ ISBN จะต้องประสานงานการขอเลข ISBN จากองค์กรผู้แทนที่ดูแลเลขกลุ่มนั้นๆ

ส่วนที่ 2 เป็นเลขรหัสสำนักพิมพ์ (Publisher Identifier) ส่วนนี้จะระบุว่าเป็นสำนักพิมพ์ใดในแต่ละกลุ่ม ที่ผลิตหนังสือเล่มนั้นๆ ออกมา

ส่วนที่ 3 เป็นเลขรหัสชื่อเรื่อง (Title Identifier) ส่วนนี้จะให้กับชื่อเรื่องหนึ่งๆ เท่านั้น หรือให้กับแต่ละการจัดพิมพ์ (edition) ของหนังสือชื่อเรื่องหนึ่งๆ โดยทั่วไปสำนักพิมพ์จะเป็นผู้กำหนดให้เองจากช่วงเลข ISBN จำนวนหนึ่งที่ได้รับมาจากองค์กรผู้แทน ISBN

ส่วนที่ 4 เป็นเลขตรวจสอบ (Check Digit) เลขตรวจสอบจะเป็นเลขหลักสุดท้ายใน ISBN เป็นเลขที่ได้มาจากการคำนวณเลข 9 หลักแรก ใช้สำหรับตรวจสอบว่าเลข ISBN ที่ป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกต้องหรือไม่

ใน ISO Recommendation หมายเลข 2108 กำหนดว่า " เลขตรวจสอบ ถูกคำนวณด้วยวิธี โมดูลัส 11 ที่ถ่วงน้ำหนักด้วย 10 ถึง 2 ถ้าคำนวณออกมาได้เป็นเลข 10 ให้ใช้ตัวอักษร X แทน"

วิธีนี้หมายความว่า ให้คูณแต่ละหลักของ 9 หลักแรกของ ISBN (ไม่นับหลักที่เป็นเลขตรวจสอบ) ด้วยเลขจาก 10 ถึง 2 แล้วรวมผลคูณเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เมื่อนำมาบวกกับเลขตรวจสอบแล้ว จะต้องหารด้วย 11 ได้ลงตัว โดยไม่มีเศษเหลือ

ตัวอย่างเช่น

รหัสกลุ่ม รหัสสำนักพิมพ์ รหัสชื่อเรื่อง เลขตรวจสอบ

ISBN 0 8 4 3 6 1 0 7 2 7

น้ำหนัก 10 9 8 7 6 5 4 3 2

ผลคูณ 0 + 72 +32+21+36 +5 +0+21 +4 บวก 7

รวม 198

เนื่องจากเลข 198 ถูกหารด้วย 11 ลงตัวโดยไม่เหลือเศษ เลข 0 8436 1072 7 จึงเป็นเลขระบบ ISBN ที่ถูกต้อง
เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะใช้วิธีนี้ในการตรวจสอบว่าเลข ISBN ที่ถูกป้อนเข้าเครื่องนั้นถูกต้องหรือไม่

เพิ่มเติม: ฟีลิปดา
เมื่อเหลือเศษ ให้เอาเศษไปลบออกจาก 11 ตัวเลขที่ได้จะใส่เป็นตัวเลขหลักสุดท้าย หากผลลัพท์ที่ได้เป็น10 จะแทนค่า ด้วย x

เช่น ISBN 974-85133-6-x
9*10
7*9
4*8
8*7
5*6
1*5
3*4
3*3
6*2
ผลคุณ = 90+63+32+56+30+5+12+9+12 รวม 309
309 หารด้วย 11 เหลือเศษ 1 เอา1ไปลบออกจาก 11 เหลือเศษ 10 จึงใส่ตัวเลขสุดท้าย ด้วย x

 

จำนวนหลักในแต่ละส่วน และวิธีสังเกตส่วนเหล่านั้นในเลข ISBN

จำนวนหลักในส่วนที่ 1, 2 และ 3 จะแปรผันไม่แน่นอน แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องเป็น 9 หลักเสมอ และเมื่อรวมกับเลขตรวจสอบอีกหนึ่ง หลัก ก็จะกลายเป็นเลข 10 หลัก ครบตามระบบเลข ISBN

จำนวนหลักของส่วนที่ 1 (เลขรหัสกลุ่ม) จะมีได้ตั้งแต่ 1 หลัก จนถึง 5 หลัก แล้วแต่ว่ากลุ่มนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะผลิตหนังสือออกมามากน้อยเพียงใด ถ้ามีแนวโน้มผลิตออกมามาก จะได้รับเลขรหัสกลุ่มน้อยหลัก เพื่อให้มีเลขเหลือสำหรับหนังสือได้มากขึ้น

จำนวนหลักของส่วนที่ 2 (เลขรหัสสำนักพิมพ์) จะมีได้ตั้งแต่ 2 หลัก จนถึง 7 หลัก แล้วแต่ว่าสำนักพิมพ์นั้นๆ มีแนวโน้มที่จะผลิตหนังสือออกมามากน้อยเพียงใด ถ้ามีแนวโน้มผลิตออกมามาก จะได้รับเลขรหัสสำนักพิมพ์น้อยหลัก เพื่อให้มีเลขเหลือสำหรับหนังสือได้มากขึ้น

ในทางปฏิบัติ เพื่อให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น ทั้ง 4 ส่วนนี้ จะถูกคั่นด้วยเครื่องหมาย - หรือเว้นวรรค อย่างไรก็ตาม ในการใส่ข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ใส่เฉพาะตัวเลข 10 หลักลงไปเท่านั้น ไม่ต้องใส่ตัวอักษร ISBN หรือเครื่องหมาย - หรือการเว้นวรรค ลงไปด้วย เพราะเป็นเพียงช่วยให้การอ่านและตีความหมายด้วยตาง่ายขึ้นเท่านั้น

ขอบเขตการใช้งาน ISBN

โดยวัตถุประสงค์ของระบบ ISBN แล้ว ISBN ถูกกำหนดมาให้ใช้กับหนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่าย มีจำนวนมากพอสมควร มีเนื้อหาสาระความรู้ และหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป แต่ต่อมาได้ขยายขอบเขตไปถึงสื่ออื่นๆ ด้วย โดยกำหนดเงื่อนไขกว้างๆ สิ่งที่จะขอรหัส ISBN ได้ดังนี้

สิ่งพิมพ์ที่ต้องขอ ISBN ได้แก่
1. สิ่งพิมพ์หนังสือ และจุลสาร
2. ไมโครฟอร์ม
3. วีดีโอ หรือ ภาพยนตร์เกี่ยวกับการศึกษา
4. สิ่งพิมพ์ที่ผสมสื่อหลายรูปแบบ
5. ซอฟต์แวร์ไมโครคอมพิวเตอร์ (ด้านการศึกษา)
6. สมุดแผนที่และแผนที่แผ่น
7. สิ่งพิมพ์อักษรเบลล์
8. สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เทปที่เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ (ออกแบบมาให้สามารถพิมพ์ออกมาให้อ่านได้) ซีดีรอม เป็นต้น

สิ่งที่ไม่ต้องมี ISBN ได้แก

1. สิ่งพิมพ์ที่มาจากวารสาร นิตยสาร (ยกเว้น หนังสือประจำปี , หนังสือรายปี , ชุดของเอกสารเรื่องใด เรื่องหนึ่ง
2. สิ่งพิมพ์โฆษณา เช่น รายการสินค้าลดราคา ,รายชื่อร้านค้า, รายการโครงการต่าง ๆ , รายการซื้อ - ขายหุ้น และแผ่นติดประกาศ
3. แผ่นพับในโฆษณาและหนังสือพิมพ์
4. โปรแกรมภาพยนตร์ รายการแสดงเพลงและการแสดงประเภทต่าง ๆ
5. รายการนิทรรศการ
6. หลักสูตรโรงเรียน , วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย
7. สมุดการเรียนการสอนที่เป็นต้นฉบับรายมือเขียน
8. ปฏิทินและสมุดไดอารี่
9. แบบฟอร์มต่าง ๆ , สมุดภาพระบายสี
10. ภาพศิลปะเป็นเล่ม , เป็นแผ่นหน้าที่ไม่มีชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและเทป
11. เกมส์ต่าง ๆ ( ในรูป CD-ROM ) (ถ้าเป็นสิ่งพิมพ์รูปแบบอื่น ต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้ง)

การขอรหัส ISBN

สำนักพิมพ์ จะขอ รหัส ISBN เป็นช่วง เพื่อมากำหนดให้แก่หนังสือแต่ละเล่มของตนเองได้ โดยแจ้งความจำนงไปที่องค์กรที่ดูแลรหัสกลุ่ม ISBN สำหรับประเทศของตน (ในประเทศไทย องค์กร ISBN มอบหมายให้หอสมุดแห่งชาติเป็นผู้ดูแลรหัสกลุ่ม ISBN ของประเทศไทย) โดยควรให้ข้อมูลจำนวนชื่อหนังสือที่ตนผลิตมาแล้วและยังคงมีจำหน่ายอยู่ และที่จะผลิตในอนาคต เพื่อหน่วยงานดังกล่าวจะได้กำหนดจำนวนหลักของรหัสสำนักพิมพ์ให้เหมาะสมกับปริมาณหนังสือ เมื่อได้รับรหัส ISBN เป็นช่วงแล้ว (เช่น ได้ครั้งละ 100 รหัส) สำนักพิมพ์ก็จะสามารถรับผิดชอบในการกำหนดรหัส ISBN ให้แก่หนังสือที่ตนผลิตได้เอง ในการนี้ สำนักพิมพ์ จะต้องให้แน่ใจว่าได้มอบหมายหน้าที่นี้แก่พนักงานของตนที่มีความรู้ความเข้าใจในการกำหนด ISBN อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์

ในกรณีที่เป็นผู้ผลิตหนังสือเป็นครั้งคราว ผลิตน้อยมากและไม่แน่นอน หรือเป็นบุคคล หรือเป็นหน่วยงานที่องค์กรผู้ดูแลการออกรหัสกลุ่ม ISBN ไม่สามารถมอบความรับผิดชอบให้กำหนดรหัส ISBN เองได้ ผู้ผลิตจะต้องขอรหัสทีละเล่มจากองค์กรผู้ดูแลดังกล่าว ในการนี้ อาจได้รหัสสำนักพิมพ์ที่จัดไว้พิเศษสำหรับผู้ผลิตรายย่อยรวมๆ กัน ไม่ไช่เป็นรหัสสำหรับสำนักพิมพ์ของตนโดยเฉพาะตามปกติ

หลักการให้รหัส ISBN

หลักการทั่วไป ต้องให้ ISBN ใหม่ ทุกครั้งที่มีการปรับปรุงเป็นการจัดพิมพ์ครั้งใหม่ (edition ใหม่) แต่จะ ไม่ ออกใหม่ให้กับการพิมพ์ซ้ำหนังสือเล่มเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา (การแก้ไขที่ผิดเล็กน้อยไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระพอสมควร จึงจะถือเป็น edition ใหม่) หรือไม่เปลี่ยนแปลงขนาดหรือรูปแบบ หรือไม่เปลี่ยนสำนักพิมพ์

(โดยหลักการแล้ว การเปลี่ยนราคาไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ISBN เพื่อให้ประหยัดจำนวน ISBN อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในขณะขาย ทั้งในระบบปกติ และในระบบ POS ซึ่งข้อมูลรหัสสินค้ามักจะผูกไปกับราคาด้วย ในการสั่งซื้อ ในการหยิบสินค้า ในการคืนสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อการคิดเงินสับสนระหว่างเล่มเก่าและใหม่ จึงขอแนะนำว่า ทุกครั้งที่มีการปรับราคา ควรเปลี่ยนหน้าปก ควรปรับปรุงเนื้อหา และ ควรให้ ISBN ใหม่ เพื่อให้สามารถเห็นความแตกต่างในตัวสินค้าได้ง่าย และลดขั้นตอนการต้องเคลียร์สินค้าที่มีราคาเดิมออกจากร้านหรือคลังสินค้าก่อนที่จะรับสินค้าราคาใหม่)

หนังสือที่ต่างรูปแบบ ต้องให้ ISBN ใหม่ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรูปแบบ (format) เช่น หนังสือที่มีการจัดพิมพ์แบบปกแข็ง (hard back edition) และแบบปกอ่อน (paper back edition) จะต้องมีรหัส ISBN ต่างกัน เวลาพิมพ์ในหน้าลิขสิทธิ์ (title page) ให้ระบุโดยวงเล็บด้วย เช่น

ISBN 974-509-406-4 (ปกแข็ง)

ISBN 974-509-334-3 (ปกอ่อน)

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมาทำเป็นไมโครฟอร์ม ก็จะต้องกำหนดรหัส ISBN ให้ต่างจากหนังสือด้วย

หนังสือที่มีหลายเล่มต่อกัน (multi-volume) ต้องให้ ISBN กับหนังสือทั้งชุดเป็น 1 รหัส ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนด ISBN ให้กับแต่ละเล่มย่อยให้ต่างกันด้วย เวลาพิมพ์ให้ระบุทั้ง 2 อย่างในแต่ละเล่มในหน้าลิขสิทธิ์ โดยวงเล็บด้วย เช่น ในเล่มที่ 4 จะต้องระบุว่า

ISBN 974-509-526-5 (ชุด ทดลองวิทยาศาสตร์แสนสนุก)

ISBN 974-509-531-1 (เล่มที่ 4 อากาศ)

หนังสือเดิมในสต็อก สำนักพิมพ์ควรจะกำหนดรหัส ISBN ให้กับสินค้าในสต็อกทั้งหมดที่ยังไม่ได้พิมพ์รหัส ISBN ลงไปบนตัวหนังสือ แล้วพิมพ์รหัส ISBN สำหรับหนังสือแต่ละเล่มนั้นไว้ในแคตาล็อกล่วงหน้า เมื่อมีการพิมพ์ซ้ำครั้งต่อไป ก็ควรจะพิมพ์รหัส ISBN เพิ่มลงไปบนตัวหนังสือ

หนังสือที่มีการพิมพ์ร่วม หนังสือที่มีการพิมพ์ร่วมกันระหว่างสองสำนักพิมพ์ หรือพิมพ์ซ้ำร่วมกับสำนักพิมพ์อื่น จะต้องกำหนดรหัส ISBN ตามสำนักพิมพ์ที่รับผิดชอบในการจัดจำหน่าย

หนังสือที่ขายหรือจัดจำหน่ายโดยผู้จัดจำหน่าย

ตามหลักการของระบบ ISBN หนังสือสำหรับการจัดพิมพ์ครั้งหนึ่ง ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หนึ่ง จะมีรหัส ISBN เพียงรหัสเดียว และจะยังคงเป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะถูกขาย หรือโดยการจัดจำหน่ายโดยผู้ใด

หนังสือที่นำเข้าโดยผู้จัดจำหน่ายแต่ผู้เดียว (exclusive distributor) และยังไม่มีรหัส ISBN อันเนื่องจากมาจากพื้นที่ที่ยังไม่อยู่ในระบบ ISBN มาก่อนเลย อาจจะกำหนด ISBN ให้โดยผู้จัดจำหน่ายนั้นๆ ได้

หนังสือที่นำเข้าโดยผู้จัดจำหน่ายแต่ผู้เดียว (exclusive distributor) ที่มีการแก้ไขหน้าลิขสิทธิ์ใหม่แตกต่างจากเดิมว่า เป็นการจัดพิมพ์ซ้ำโดยผู้จัดจำหน่ายรายนั้น จะต้องกำหนด ISBN ให้ใหม่โดยผู้จัดจำหน่ายนั้นๆ โดยระบุรหัส ISBN ของสำนักพิมพ์เดิมไว้ด้วยเพื่อเป็นการอ้างถึง

หนังสือที่นำเข้าโดยผู้จัดจำหน่ายหลายราย และยังไม่มีรหัส ISBN อันเนื่องจากมาจากพื้นที่ที่ยังไม่อยู่ในระบบ ISBN มาก่อนเลย องค์กรผู้ดูแลรหัสกลุ่มสำหรับผู้จัดจำหน่ายเหล่านั้น อาจจะกำหนด ISBN ให้เอง

สำนักพิมพ์ที่มีสำนักงานหลายประเทศ สำนักพิมพ์ที่มีสำนักงานหลายประเทศ และพิมพ์ที่อยู่ลงในการพิมพ์ซ้ำ จะมีรหัส ISBN ได้เพียงรหัสเดียวในตัวหนังสือ เป็นรหัส ISBN ที่ให้ตามสำนักงานที่รับผิดชอบในการจัดพิมพ์นั้นๆ

การลงทะเบียนรหัส ISBN ทุกสำนักพิมพ์ต้องเก็บเอกสารการให้รหัส ISBN ของตนสำหรับหนังสือที่จัดพิมพ์ไปแล้ว และที่กำลังจะออกมาในอนาคตไว้ โดยเรียงตามลำดับรหัส ISBN ชื่อผู้เขียน ชื่อเรื่อง และการจัดพิมพ์ (edition) ครั้งที่

ISBN ต้องไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำไม่ว่าในภาวะใดๆ ก็ตาม เมื่อรหัส ISBN ถูกกำหนดให้กับหนังสือเล่มหนึ่งไปแล้ว สำนักพิมพ์จะต้องไม่นำกลับมาใช้ซ้ำโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน ในกรณีที่ให้รหัส ISBN ผิดพลาดไป รหัสนั้นจะต้องถูกขีดทิ้งจากรหัสที่ยังเหลืออยู่ และต้องไม่นำไปกำหนดให้กับหนังสือเล่มอื่น และสำนักพิมพ์ควรแจ้งองค์กรที่ดูแลรหัสกลุ่มของตนว่ามีรหัสใดที่ถูกยกเลิก และชื่อหนังสือที่มีการให้รหัส ISBN ผิดพลาดไป

การให้รหัส ISBN กับซอฟต์แวร์

ถ้าซอฟต์แวร์มีมากกว่าหนึ่งเวอร์ชั่น (เช่น อาจเป็นเวอร์ชั่นที่ขึ้นกับฮาร์ดแวร์แต่ละแบบ หรือแต่ละภาษา หรือว่าเป็น CD ROM หรือฟลอปปี้ดิสก์) แต่ละเวอร์ชั่นจะต้องมีรหัส ISBN ต่างกัน

เมื่อซอฟต์แวร์ถูกปรับปรุง หรือแก้ไขใหม่ และการเปลี่ยนแปลงนั้นมีมากพอที่จะเรียกได้ว่าเป็น new edition (ซึ่งบางครั้งอาจเป็นผลมาจากการผลักดันทางการตลาด) และละก็จะต้องให้ ISBN ใหม่

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วใหม่อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะใช้วัสดุหีบห่อใหม่ แต่ไม่มีความแตกต่างในการทำงานระหว่างผลิตภัณฑ์ใหม่และเก่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้รหัส ISBN ใหม่ ในกรณีต้องใช้รหัส ISBN เดิม

ในกรณีที่มีหนังสือคู่มือไปพร้อมกับซอฟต์แวร์ ซึ่งหนังสือจะมีประโยชน์ต่อเมื่อต้องใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ และผู้ใช้ก็ต้องอ่านคู่มือก่อนจึงจะใช้ซอฟต์แวร์ได้ และทั้งสองอย่างนี้จะถูกขายไปพร้อมกันเสมอ อย่างนี้รหัส ISBN เพียงรหัสเดียวจะครอบคลุมทั้งสองรายการ

ในกรณีที่มี 2 รายการหรือมากกว่า อยู่ในหนึ่งหีบห่อหรือหนึ่งกล่องของซอฟต์แวร์ สามารถใช้แยกจากกันได้ หรือขายแยกจากกันได้ ทั้งกล่องต้องมีรหัส ISBN หนึ่งรหัส ขณะเดียวกัน แต่ละรายการนั้นในกล่องก็ต้องมีรหัส ISBN เฉพาะตัวซึ่งแตกต่างกันด้วย

ISBN ควรให้กับซอฟต์แวร์หนึ่งๆ โดยไม่ขึ้นกับรูปร่างทางกายภาพ เช่น ลูกค้าอาจดาวน์โหลดมาจากระบบคอมพิวเตอร์ก็ได้

ISBN ใช้ระบุผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ใช้ระบุผู้ผลิตหรือสำนักพิมพ์ ไม่ได้ใช้ระบุผู้ขาย หรือผู้จัดจำหน่าย

การพิมพ์รหัส ISBN ลงบนตัวหนังสือ

รหัส ISBN ควรถูกพิมพ์ใน หน้าลิขสิทธิ์ (copyright page) ซึ่งมักอยู่ด้านหลังของ หน้าชื่อเรื่อง (title page) โดยวางให้มองเห็นง่าย เช่น เว้นระยะห่างจากบรรทัดอื่น (ถ้ามี CIP ISBN จะเป็นส่วนหนึ่งของ CIP) และควรใช้ตัวขนาดไม่น้อยกว่า 9 point ถ้าไม่มีหน้าดังกล่าว อาจพิมพ์อยู่ด้านล่างของ หน้าชื่อเรื่อง ก็ได้

นอกจากนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรพิมพ์รหัส ISBN ไว้ที่มุมขวาด้านล่างสุดของปกหลังด้วย(ถ้ามีบาร์โค้ด ISBN จะอยู่ติดกับด้านบนของบาร์โค้ด) และที่ด้านล่างของหน้าปกหลังของใบหุ้มปก(ถ้ามี)

ถ้ากรณีข้างต้นไม่สามารถกระทำได้เลย ให้พิมพ์รหัส ISBN ไว้ที่ใดที่หนึ่งของด้านนอก(ด้านหน้าหรือหลังก็ได้) ที่มองเห็นได้ง่าย

ในทางปฏิบัติ อาจพิมพ์รหัส ISBN เพิ่มเติมที่มุมล่างของสันหนังสืออีกที่หนึ่งก็ได้ (อาจไม่พิมพ์รหัส 974 ได้ ถ้าเป็นภาษาไทย เพื่อให้สั้นเข้า) เพื่อความสะดวกในการอ่านรหัสจากสันหนังสือในขณะตรวจนับสินค้า

เมื่อตีพิมพ์หนังสือเป็นรูปเล่มแล้วทุกครั้ง กรุณาส่งมอบให้หอสมุดแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ด้วย อย่างน้อย 2 เล่มเสมอ โดยจัดส่งไปที่

ฝ่ายจัดหาหนังสือและโสตทัศนวัสดุ
หอสมุดแห่งชาติ
ถนนสามเสน เขตดุสิต
กรุงเทพฯ 10300

วิธีการขอหมายเลข ISBN กับทางหอสมุดแห่งชาติ

1. ทาง E-mail

โดยการส่งแบบฟอร์มรายละเอียดต่างๆ ที่กำหนดให้ส่งมา ที่ ISBN@nlt.go.th

2. ทาง FAX

โดยการส่งแบบฟอร์มรายละเอียดต่างๆ ที่กำหนดให้ส่งมา ที่ 02-281-5450 (อัตโนมัติ)

3. ติดต่อด้วยตนเอง

โดยมากรอกรายละเอียดลงแบบฟอร์ม ที่ ฝ่ายจัดหาหนังสือ หอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

 

แบบฟอร์มการขอหมายเลข ISBN

1. ISBN ………………
2. Author /Editor (ผู้แต่ง/บรรณาธิการ) …………………………………………………………….
3. Translator (ผู้แปล) ……………… ……………… ……………… ……………………………..
4. Title(ชื่อหนังสือ) ……………… ……………… ……………… …………………..……..……..
……………… ……………… ……………… …………………..……..…………… ………………
ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ (ถ้ามี) ……………… ………………………… ……………… ……..
……………… ……………… ……………… …………………..……..…………… ………………
5. Edition(ครั้งที่พิมพ์) ……………… ……………………………… ……………………………..
6. Place (สถานที่พิมพ์ (จังหวัด)) ……………… ……………………………… ………………….
7. Publisher (สำนักพิมพ์ / โรงพิมพ์)……………………………… ……………… ………………
(ชื่อหน่วยงานราชการ) ……………… ……………………………… ………………
8. Address (ที่อยู่) ……………… ……………… ……………… ……………… ……………….
โทร.......................................................โทรสาร........ ...........................................
9. Year (ปีที่พิมพ์ / เดือนที่คาดว่าจะพิมพ์เสร็จ) ……………… …………………………………...
10. Page (จำนวนหน้า) ……………… ……………………………… ……………………………..
11. Price (ราคา) ……………… ……………………………… …………………………………….
12. Distributor (ผู้จัดจำหน่าย) ……………… ……………………………… ……………………..

(หลังจากส่ง แบบฟอร์มการขอหมายเลข ISBN ทาง E-mail หรือทาง โทรสาร แล้ว ประมาณ 15 นาที โทร.กลับมาถามหมายเลข ISBN จากเจ้าหน้าที่ได้ที่ 02-281-5212,02-281-5313 ต่อ 117,507)

ที่มา
หอสมุดแห่งชาติ (www.nlt.go.th)
http://www.se-ed.com/

 



ห้องมือใหม่
ห้องสร้างนักเขียน
การเขียนนวนิยายต่าง ๆ
Idea bank
ฝึกเขียนเรื่อง

ร้านหนังสือ

 

ฟรี E-book
 
 



 

http://www.forwriter.com . © 2005 All rights reserved.